วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พระรอดครูบาศรีวิชัย

หนึ่งในวัตถุมงคลของพระครูบาเจ้าศรีวิชัยตามมาตราฐานการอนุรักษ์พระเครื่องพระบูชาไทย คือ "พระเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัย" นับเป็นพระเกศาที่นิยมสูงที่สุดในแผ่นดินล้านนา การสร้างพระเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัย มีทรงพิมพ์มากมายไม่จำกัด แต่สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ดังนี้ 1.ทรงพิมพ์พระสกุลลำพูน เช่นพระคง พระรอด พระบาง พระเปิม ฯ 2.พิมพ์ทรงอิสระ ตามแต่ช่างชาวบ้านจะแกะแบบพิมพ์ 3.พิมพ์รูปเหมือนของครูบาเจ้าศรีวิชัย การบรรจุพระเกศาในพระพิมพ์อาจทำโดยใช้เส้นเกศาคลุกปนกับมวลสารที่ใช้สร้างพระ หรือโรยติดผิวพระ หรือห่อกระดาษสาฝังไว้ใต้ฐานพระ การฝังพระเกศาหากไม่เห็นเส้นเกศาเรียกว่า"เกศาจม"หากเห็นพระเกศาเรียกว่า"เกศาลอย"
ยุคสมัยการสร้าง แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ยุคต้น พระจะแห้งและเบามากอายุการสร้างนานกว่า 80 - 90 ปี ยุคกลาง อายุการร้าง  60 - 70 ปี ทั้ง 2 ยุคเป็นการสร้างช่วงที่ท่านมีชีวิตอยู่ (แต่ไม่ใช่ท่านสร้างเองนะครับ) 3.ยุคปลายเป็นการสร้างพระเกศาหลังท่านมรณะภาพไปแล้ว

พระผงเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ตามประวัติกล่าวไว้ว่า ไม่ได้ถูกสร้างโดยครูบาฯท่าน แต่เป็นพระที่บรรดาลูกศิษย์ที่เคารพนับถือท่านทั้งที่เป็นพระสงฆ์และที่เป็นฆราวาส ได้นำเส้นเกศาของท่านมาสร้างในภายหลัง (เช่นเดียวกับเหรียญรุ่นแรกของท่าน ซึ่งสร้างขึ้นหลังจากที่ท่านมรณภาพไปแล้ว แต่ก็ยังได้รับความนิยมสูงมาก) เล่ากันว่าสมัยครูบาท่านมีชีวิตอยู่นั้นเวลาปลงผม บรรดาลูกศิษย์จะไปเก็บเส้นเกศาเก็บไว้ตลอด ได้ไปมากบ้างน้อยบ้าง บางท่านมีมากอย่างเช่นผ้าขาวดวงต๋า ปัญญาเจริญ ที่บ้านห้วยไซ ตำบลบ้านธิ จังหวัดลำพูน เมื่อปี2540 อาจารย์ผดุง พุทธสโร แห่งวัดล้านตอง สันกำแพง ประสงค์จะสร้างพระจึงไปพบผ้าขาวดวงต๋า พบว่าแกเก็บเส้นเกศาครูบาฯไว้เป็นจำนวนมาก เกือบเต็มกระบอกไม่ไผ่ ปิดฝาลงรักไว้อย่างสวยงาม จึงสันนิษฐานได้ว่า ในสมัยท่านมีชีวิตอยู่ จนถึงช่วงท่านมรณภาพไปใหม่ๆ เส้นเกศาของท่านนั้นถูกเก็บรักษาไว้มีเป็นจะนวนมากทีเดียว ส่วนการนำมาสร้างพระเครื่องเล่ากันว่ามีการสร้างหลายครั้ง หลายผู้สร้าง แต่ก็ล้วนเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิด และผสมเส้นเกศาอยู่จริงทั้งสิ้น พิมพ์ทรงส่วนมากจะล้อพิมพ์จากพระกรุสกุลลำพูนต่างๆ มวลสารที่ใช้สร้างประกอบด้วย ดอกไม้อุโบสถส่วนหนึ่ง ธรรมใบลานเก่าและพับหนังสา ส่วนหนึ่ง ใบสรี หรือใบโพ ที่เก็บได้จากต้นโพ จำนวน 108 ต้น ส่วนหนึ่ง นำมวลสารเหล่านี้มาสับให้เป็นชิ้น ๆ ตากให้แห้ง แล้วคั่วในกระทะใบใหญ่จนกรอบมีสีดำ จากนั้นนำมาตำให้ละเอียด ร่อนเอาเฉพาะผงถ่านนำมาผสมกับยางรักที่กรองแล้วคลุกเคล้าจนเหนียวพอปั้นเป็นองค์ได้ เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็จะขัดราชวัตรแวดล้อมพร้อมตั้งเครื่องบวงสรวงพลีกรรมตามธรรมเนียมอย่างล้านนา แล้วนำเส้นเกศามาปั้นผสมคลุกรักให้พอองค์ กดลงแม่พิมพ์ทีละองค์ทีละองค์ ทำเช่นนี้จนหมดเส้นเกศา จากกระบวนการสร้างดังกล่าวทำให้เนื้อพระผงเกศานั้นพิจารณาคล้ายกับพระผงคลุกรักนั่นเอง หากมีประสบการณ์ศึกษาสะสมพระเนื้อผงคลุกรักมาก่อน ก็จะสามารถแยกแยะพระผงเกศาฯ เก๊/แท้ ได้ไม่ยากนัก องค์ในภาพเป็นพิมพ์พระรอด ขนาดองค์พระเท่ากับพระรอดพิมพ์เล็กกรุมหาวัน สำหรับผู้ที่ชื่นชอบพระสกุลลำพูนและศรัทธาในท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย องค์นี้นับว่าคุ้มค่ามากครับ เหรียญรุ่นแรกเป็นเหรียญตามราคาไปไกลหลายแสน พระผงเกศามีเกศาของท่านผสมอยู่ แถมเป็นพิมพ์พระสกุลลำพูนที่ท่านนับถือ นับว่าเป็นของดีราคาถูก พุทธคุณสูงเกินราคามากๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น