วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พระเกศาครูบาศรีวิชัย

พระผงเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ตามประวัติกล่าวไว้ว่า ไม่ได้ถูกสร้างโดยครูบาฯท่าน แต่เป็นพระที่บรรดาลูกศิษย์ที่เคารพนับถือท่านทั้งที่เป็นพระสงฆ์และที่เป็นฆราวาส ได้นำเส้นเกศาของท่านมาสร้างในภายหลัง (เช่นเดียวกับเหรียญรุ่นแรกของท่าน ซึ่งสร้างขึ้นหลังจากที่ท่านมรณภาพไปแล้ว แต่ก็ยังได้รับความนิยมสูงมาก) เล่ากันว่าสมัยครูบาท่านมีชีวิตอยู่นั้นเวลาปลงผม บรรดาลูกศิษย์จะไปเก็บเส้นเกศาเก็บไว้ตลอด ได้ไปมากบ้างน้อยบ้าง บางท่านมีมากอย่างเช่นผ้าขาวดวงต๋า ปัญญาเจริญ ที่บ้านห้วยไซ ตำบลบ้านธิ จังหวัดลำพูน เมื่อปี2540 อาจารย์ผดุง พุทธสโร แห่งวัดล้านตอง สันกำแพง ประสงค์จะสร้างพระจึงไปพบผ้าขาวดวงต๋า พบว่าแกเก็บเส้นเกศาครูบาฯไว้เป็นจำนวนมาก เกือบเต็มกระบอกไม่ไผ่ ปิดฝาลงรักไว้อย่างสวยงาม จึงสันนิษฐานได้ว่า ในสมัยท่านมีชีวิตอยู่ จนถึงช่วงท่านมรณภาพไปใหม่ๆ เส้นเกศาของท่านนั้นถูกเก็บรักษาไว้มีเป็นจะนวนมากทีเดียว ส่วนการนำมาสร้างพระเครื่องเล่ากันว่ามีการสร้างหลายครั้ง หลายผู้สร้าง แต่ก็ล้วนเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิด และผสมเส้นเกศาอยู่จริงทั้งสิ้น พิมพ์ทรงส่วนมากจะล้อพิมพ์จากพระกรุสกุลลำพูนต่างๆ มวลสารที่ใช้สร้างประกอบด้วย ดอกไม้อุโบสถส่วนหนึ่ง ธรรมใบลานเก่าและพับหนังสา ส่วนหนึ่ง ใบสรี หรือใบโพ ที่เก็บได้จากต้นโพ จำนวน 108 ต้น ส่วนหนึ่ง นำมวลสารเหล่านี้มาสับให้เป็นชิ้น ๆ ตากให้แห้ง แล้วคั่วในกระทะใบใหญ่จนกรอบมีสีดำ จากนั้นนำมาตำให้ละเอียด ร่อนเอาเฉพาะผงถ่านนำมาผสมกับยางรักที่กรองแล้วคลุกเคล้าจนเหนียวพอปั้นเป็นองค์ได้ เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็จะขัดราชวัตรแวดล้อมพร้อมตั้งเครื่องบวงสรวงพลีกรรมตามธรรมเนียมอย่างล้านนา แล้วนำเส้นเกศามาปั้นผสมคลุกรักให้พอองค์ กดลงแม่พิมพ์ทีละองค์ทีละองค์ ทำเช่นนี้จนหมดเส้นเกศา จากกระบวนการสร้างดังกล่าวทำให้เนื้อพระผงเกศานั้นพิจารณาคล้ายกับพระผงคลุกรักนั่นเอง หากมีประสบการณ์ศึกษาสะสมพระเนื้อผงคลุกรักมาก่อน ก็จะสามารถแยกแยะพระผงเกศาฯ เก๊/แท้ ได้ไม่ยากนัก องค์ในภาพเป็นพิมพ์พระรอด ขนาดองค์พระเท่ากับพระรอดพิมพ์เล็กกรุมหาวัน สำหรับผู้ที่ชื่นชอบพระสกุลลำพูนและศรัทธาในท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย องค์นี้นับว่าคุ้มค่ามากครับ เหรียญรุ่นแรกเป็นเหรียญตามราคาไปไกลหลายแสน พระผงเกศามีเกศาของท่านผสมอยู่ แถมเป็นพิมพ์พระสกุลลำพูนที่ท่านนับถือ

สุดยอดของพระเนื้อผงพุทธคุณ ที่มีเนื้อหามวลสารที่เป็นสิ่งมงคลสูงสุดได้แก่เส้นเกศาของครูบาเจ้าศรีวิชัย แม่ทัพแห่งกองทัพธรรมล้านนานี้ แม้ท่านไม่ได้ปลุกเสก แต่นับได้ว่าเป็นพระเครื่องรุ่นเดียวที่สร้างทันท่าน เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นพระมากด้วยพุทธคุณทางเมตตามหานิยม เด่นทางแคล้วคลาดภยันตราย กันพิษภัยจากการเจ็บไข้ได้ป่วยระหว่าการเดินทาง รอดพ้นภัยดีนักแล อิทธิปาฏิหารย์ด้านคงกระพันแม้ ไม่ปรากฏ จะมีก็แต่เพียง เมื่อเกิดอุบัติเหตุมักจะแคล้วคลาดรอดพ้นมาได้ อาจมีบาดแผลบ้าง บาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น คราใดที่พระครูบาเจ้าจะปลงผม (เส้นเกศา) เหล่าบรรดาพระลูกศิษย์และศรัทธา ชาวบ้านจะพากันเอาผ้าขาวมารอง พร้อมใบบัวมาคอยรับคอยห่อ เอาพระเกศาของท่านครูบาเจ้าฯ เมื่อได้เส้นเกศาที่ครูบาท่านปลงแล้ว ก็จะขออนุญาตินำออกไปแจกให้ คณะศรัทธาชาวบ้านส่วนหนึ่ง โดยอีกส่วนเก็บเอาไว้กับวัดที่ท่านพักอยู่ ณ ขณะเมื่อคราปลงเส้นผมนั้น ซึ่งต่อมาบางวัดก็ได้นำเอาไปบรรจุรวมกับอัฐิธาตุ ของพระครูบาเจ้าศรีวิชัยดังปรากฏตามประวัติการสร้างสถูป อนุสาวรีย์ของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สืบมาถึงปัจจุบัน
ลักษณะของเส้นเกศาของครูบาเจ้าศรีวิชัย ตามที่ได้พบเห็นในเนื้อพระผงเกศาของท่านจะมีความยาวประมาณมือหยิบ หรือประมาณ เซนติเมตร เป็นส่วนใหญ่ลักษณะเส้นผมจะเป็นสีน้ำผึ้ง, ใส ดุจดั่งเส้นใยแก้วก็มี การสร้างพระเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัย มวลสารที่สร้างมักจะนำเอาผงเกสรและดอกไม้ต่างๆ ที่ชาวบ้านนำมากราบไหว้พระในโบสถ์ ในพระวิหารรวมถึงตามพระบรมธาตุจากที่ต่างๆ มาผสมกับดอกพิกุลหรือดอกแก้วที่ตากแห้งดีแล้ว ตลอดทั้งเถ้าธูปจากกระถางบูชาพระพุทธอันหมายถึงพระประธานในพระวิหารของวัด ที่เป็นผู้สร้างพระเกศานั้นๆ เมื่อได้มวลสารผงเกสรตลอดจนวัสดุมงคลครบถ้วนตามความเชื่อของศรัทธาชาวบ้านแล้ว ก็จะนำมาบดให้ละเอียด แล้วนำมาคลุกเคล้ากับยางรักโดยมีผงใบลานที่เป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งคนล้านนาโบราณได้จารึกอักขระไว้ เมื่อนำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าปั้นเป็นก้อนเหนียวได้ตามประสงค์เจตนา จึงนำเอามากดลงบนแม่พิมพ์เป็นองค์พระเครื่อง โดยจะผสมเอาเส้นพระเกศาครูบาเจ้าฯ ลงไปก่อนจะกดลงพิมพ์บ้าง นำเอาเส้นพระเกศาผสมลงในเนื้อผงเกสรเลยก็มีจึงปรากฏในภายหลังของพระเครื่องเส้นเกศาฯ นี้ ด้วยบางองค์ก็จะเห็นเส้นพระเกศาชัดเจน บางองค์ก็จะไม่พบเส้นพระเกศาข้างนอกเลย สำหรับแม่พิมพ์ที่นำมาสร้างพระเกศาครูบาศรีวิชัยนั้นได้ยึดถือเอาแบบพุทธพิมพ์ของพระสกุลลำพูนเป็นตัวอย่างแม่พิมพ์พระเครื่องเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัย จึงมีหลายแบบหลายพิมพ์ทรงส่วนมากจะเป็น พิมพ์พระสกุลลำพูน เช่นพระคง พระบาง พระรอด พระเปิม พระลือ พระเหลี้ยม พระลบ พระสาม พระสกุลลำพูนคงหาได้ง่ายในยุคนั้นอีกทั้งยังเป็นที่เคารพของผู้คนในพื้นถิ่น จึงนำมาเป็นต้นแบบการสร้าง ต้นแบบสวยพระเกศาองค์ที่ถอดแบบออกมาก็สวยตาม พิมพ์ต่อมาคือ พิมพ์รูปเหมือนครูบาเจ้าฯ ที่พบมากคือมีลักษณะคล้ายกับพระเนื้อดินรุ่นอัฐิหลังย่นคือเป็นรูปครูบาเจ้าฯ นั่งเต็มองค์ พิมพ์ทรงกลุ่มสุดท้ายคือ พิมพ์ทรงพระพุทธ มีอยู่หลายแบบหลายปางหลายขนาด เวลากำหนดประเภทพระเข้าประกวดมักไม่เป็นมาตรฐาน เช่น แบ่งเป็นพิมพ์รัศมีใหญ่ รัศมีกลาง รัศมีเล็ก นั่งบัว ฯลฯ ความหลากหลายนี้คือเสน่ห์ของพระเกศาฝีมือแบบชาวบ้านที่สะท้อนความเคารพนับถือในตัวครูบาฯ ใครอยากทำแบบพิมพ์อย่างไรก็แล้วแต่ใจศรัทธา
การพิจารณาเนื้อพระเกศาเพื่อกำหนดอายุนั้น อาศัยความเก่าความแห้งของมวลสารและเส้นเกศาในเนื้อหาของพระเป็นหลัก ทั้งนี้ พระผงเกศาของท่านนอกจากจะมีพระทำเทียมเลียนแบบแล้วยังมีพระผงอื่น ๆ ที่พยายามให้เป็นพระเกศาครูบาเจ้าฯ ส่วนมากจะเป็นพระเนื้อผงของพม่า เพราะมวลสารหลัก ๆ เหมือนกัน คือ สมุก เกสรดอกไม้ และการคลุกรัก ยิ่งไม่พบเส้นเกศาก็ยิ่งพิจารณายากเล่นหาจบได้ยาก การเช่าหาจึงต้องพิจารณาถึงที่มาที่ไปที่ชัดเจน หรือเช่าหาจากผู้รู้จริงที่เชื่อถือได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น